วัฒนธรรมแต่งงานแบบล้านนาในปัจจุบัน มีการปรับเปลี่ยน ประยุกต์พิธีการให้เข้ากับยุคสมัยใหม่มากขึ้น แต่ยังความเป็นล้านนาอยู่ โดยธรรมเนียมของชาวล้านนา พิธีการแต่งงานจะนิยมจัดที่บ้านของฝ่ายหญิง วันนี้เรามีพิธีสำคัญของการแต่งงานแบบล้านนามาฝาก ตามไปดูกันเลยค่ะ ว่างานแต่งงานของชาวเหนือเค้ามีพิธีอะไรกันบ้าง พิธีขอเขย ในเช้าวันแต่งงาน เมื่อทุกอย่างเป็นไปตามกำหนด ฝ่ายเจ้าสาวจะไปขอเจ้าบ่าวเรียกว่า ไปขอเขย โดยมีผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาวเป็นคนที่ช่างเจรจานำคณะไปขอเจ้าบ่าวที่บ้านเจ้าบ่าว โดยมีพานดอกไม้ธูปเทียน ไปพูดเชิญด้วยถ้อยคำอันเป็นมงคล ทางพ่อแม่ฝ่ายเจ้าบ่าวก็จะมีขันข้าวตอกดอกไม้และขันหมากเป็นเครื่องต้อนรับค่ะ จะว่าไปแล้วแอบคล้ายวัฒนธรรมของชาวอินเดียเลยค่ะ พิธีขบวนแห่ขันหมาก เมื่อถึงวันแต่งงาน เจ้าบ่าว และญาติพี่น้อง พร้อมทั้งแขกเหรื่อฝ่ายเจ้าบ่าวจะตั้งขบวนแห่ขันหมาก ฝ่ายเจ้าบ่าวจะต้องสะพายดาบ อันเป็นเครื่องหมายแห่งชายชาตรี แต่ถ้าเป็นบ่าวล้านนาในยุค 2019 ก็จะแต่งตัวสไตล์ประมาณนี้ค่ะ และตามมาด้วยขันหมั้น ขันหมาก หีบผ้า หน่อกล้วย หน่ออ้อย เป็นต้น ในขบวนยังมีกลองซิ้งม้องกับปี่แนตีบรรเลงอีกด้วย เพื่อให้เกิดความครึกครื้นในขบวน เรียกได้ว่าเป็นสีสันของงานแต่งงานเลยทีเดียว เมื่อขบวนแห่มาถึงพิธี เจ้าสาวจะออกมารอรับเจ้าบ่าว แต่เจ้าบ่าวยังไม่ได้เจอเจ้าสาวง่ายๆนะคะ เพราะฝ่ายเจ้าบ่าวจะต้องเจรจา ขอผ่านประตูที่ใช้เข็มขัดกั้นประตูแรกก่อน เรียกว่า ประตูเงิน ส่วนมากนิยมให้เพื่อนเจ้าสาวเป็นคนกั้นประตู ซึ่งเจ้าบ่าวต้องตอบคำถาม เล่นเกมส์และแจกซองให้คนกั้นประตูปล่อยให้เข้าไปในประตูอีกชั้นหนึ่ง เรียกว่า ประตูทอง มาถึงด่านนี้แล้วเจ้าบ่าวอย่าคิดว่าจะผ่านเข้าไปได้ง่ายๆนะคะ เพราะคุณต้องพิสูจน์ตัวเองกับบรรดาเพื่อนเจ้าสาวว่าคุณรักเพื่อนของพวกเค้าจริงหรือไม่ จึงจะไปพบเจ้าสาวได้ค่ะ พิธีเรียกขวัญและผูกข้อมือบ่าวสาว มาถึงพิธีการขั้นตอนที่สำคัญอีกหนึ่งพิธีแล้วนะคะ เมื่อเจ้าบ่าวผ่านประตูเงินประตูทองเข้ามาในพิธีแล้ว ลำดับต่อไป เจ้าบ่าวเจ้าสาวไหว้พ่อแม่ทั้งสองฝ่าย โดยให้หญิงนั่งซ้าย ชายนั่งขวา แขกผู้ใหญ่หรือพ่อแม่แต่ละฝ่าย หรือปู่อาจารย์ เป็นผู้สวมฝ้ายมงคล ที่ศีรษะของทั้งสองคนโยงคู่กัน โดยมีบายศรี ที่ชาวล้านนานิยมเรียก ใบสี เป็นเครื่องประกอบพิธีเรียกขวัญและมัดมือ การผูกข้อมือ ใช้ฝ้ายดิบ หรือเรียกว่า ฝ้ายไหมมือ จะต้องกล่าวคำอวยพรให้แก่บ่าวสาว เช่น หื้อรักกัน แพงกัน หื้อเจริญก้าวหน้า ริมาค้าขึ้น จากนั้นก็จะมอบซองเงินให้กับคู่บ่าวสาวใส่ในขันสลุงค่ะ คำว่า บายศรี ชาวล้านนานิยมเรียก ใบสี ทั้งนี้เนื่องจาก ใช้ใบตองมาเย็บรวมกัน ทำเป็นบายศรี บ้างก็เรียก ขันบายศรี บางแห่งเรียกว่า ขันปอกมือ หรือ ขันผูกมือ เนื่องจากเป็นเครื่องประกอบพิธีเรียกขวัญและมัดมือ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวล้านนาที่งดงามและมีคุณค่ามากเลยค่ะ พิธีส่งตัวเข้าห้องหอ มาถึงพิธีการสุดท้ายกันแล้วนะคะ นั่นก็คือ การส่งตัวเจ้าบ่าวเจ้าสาวเข้าห้องหอ ก่อนส่งตัวเจ้าบ่าวเจ้าสาวเข้าห้องหอ จะต้องมัดมือเจ้าบ่าวเจ้าสาวติดกันก่อน โดยมีพ่อแม่หรือบุคคลที่เคารพนับถือ เป็นผู้จูงคู่บ่าวสาวเข้าห้อง โดยต้องนำบายศรีหน้า ตามด้วยน้ำบ่อแก้ว คือสลุงที่ใส่เงินทองที่ผู้มาร่วมงานได้มอบให้ตอนมัดมือบ่าวสาว พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่แต่งงานครั้งเดียว และอยู่ด้วยกันเจริญก้าวหน้า เป็นผู้นอนเป็นตัวอย่างแล้วให้ทั้งสองต้องนอนด้วยกันเป็นพิธี และมีการให้โอวาทในการครองเรือน เรียกว่า สอนบ่าว สอนสาว เช่น ให้ผัวเป็นแก้ว เมียเป็นแสง หื้อมีลูกเต็มบ้าน หลานเต็มเมือง หื้อพ่อชายเป็นหิง แม่ญิงเป็นข้อง เป็นต้น เป็นยังไงกันบ้างคะ วัฒนธรรมการแต่งงานของชาวล้านนา จะเห็นได้ว่าพิธีการแต่งงานของชาวเหนือนั้นจะมีเอกลักษณ์ที่สวยงามและโดดเด่น ด้วยมนต์เสน่ห์ในแบบล้านนา สำหรับบ่าวสาวชาวเหนือคู่ไหนที่กำลังมีแพลนจะแต่งงาน สามารถปรึกษากับทีมบล็อกเกอร์ ฮา-นี่ ออร์แกไนเซอร์ ของเราได้นะคะ คุณสามารถติดต่อเราได้ที่ tel.053-600575 หรือ www.haaneeorganizer.com ขอบคุณรูปภาพจาก – http://library.cmu.ac.th/ – https://www.facebook.com/pg/haaneecm/photos/?ref=page_internal ขอบคุณข้อมูลจาก –http://library.cmu.ac.th/ แชร์ให้เพื่อนดูด้วย FacebookTwitterLine